NEW WEBSITE IS READY!

26.03.2020

เจาะลึก! การพัฒนา Covidtracker ที่ใช้เวลาพัฒนาเวอร์ชั่นแรกภายในคืนเดียว โดย 5Lab Group

Highlight

  • Covidtracker เวอร์ชั่นแรกเริ่มโค้ดกันตอน 5 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม และประกาศให้บริการในเวลา 10 โมงครึ่งของวันต่อมา ผ่าน Facebook ส่วนตัวของ CTO เท่านั้น ภายในเที่ยงมียอดแชร์มากกว่า 1,000 แชร์

นาทีนี้ ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Covidtracker เว็บไซต์รายงานตำแหน่งที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 (โรคปอดอักเสบรุนแรง จากเชื้อไวรัสโคโรนา), ตำแหน่งโรงพยาบาลที่สามารถทำการรักษา และอีกมากมาย ที่เพียงแค่คืนเดียว ก็มียอดการแชร์เว็บไซต์มากกว่า 1,000 แชร์ และเป็นที่รู้จักในวงกว้างในเวลาต่อมา วันนี้ Cloud Ace จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับผู้พัฒนา Covidtracker รวมถึงแนวคิด และเผยเทคนิคการพัฒนา Covidtracker ที่ใช้เวลาในการพัฒนาเวอร์ชั่นแรกเพียงแค่คืนเดียว กับคุณอาพร พลานุเวช (ใหม่) CTO แห่ง 5Lab Group

คุณใหม่เล่าให้พวกเราฟังถึงไอเดียเริ่มต้นในการสร้าง Covidtracker "เราเริ่มต้นคิดกันตอนเย็นวันพฤหัสที่ 12 จนถึงตอนนี้ก็น่าจะ 2 อาทิตย์แล้วครับ 5Lab เราเป็นบริษัทพัฒนาซอร์ฟแวร์ ทำเว็บไซต์ให้กับบริษัทโดยทั่วไป จริง ๆ เราไม่ได้พิเศษหรือว่าเจ๋งอะไรมากไปมากกว่าใคร เราเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่มีพนักงาน 7-8 คน และทุกคนสามารถทำได้ทั้งการ Design และ Coding Covidtracker มันเริ่มมาจาก วันที่ 12 ได้มีข่าวว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในละแวกที่ทำงานของผม แต่ส่วนใหญ่แล้วข่าวที่เราเข้าถึงได้รวดเร็วจะเป็นข่าวที่มาจากโซเชียลมีเดีย เช่น ประกาศจากทางผู้ประกอบการ ห้างร้านต่าง ๆ เราเข้าใจว่าปริมาณผู้ติดเชื้อในแต่ละวันนั้นค่อนข้างสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และรัฐบาลอาจจะไม่สามารถมาช่วยในเรื่องการกระจายข่าวได้ตลอดในเวลานั้น เราเลยคุยกับทางทีมว่าทำไมถึงไม่มีคนรายงานข้อมูลเหตุการณ์นี้ให้มันติดตามได้ง่าย ๆ"

"เราจึงมีไอเดียว่าอยากจะทำเว็บไซต์ที่กระจายข้อมูลในรูปแบบของแผนที่ เราจะได้หลีกเลี่ยงกันได้ง่าย หลังจากโยนไอเดียกับทีม เราก็ได้ข้อสรุปกันว่าไอเดียนี้มันไม่น่าจะทำยาก คงไม่เกิน 3-4 ชั่วโมงก็น่าจะเสร็จ เราเลยวาดร่าง Prototype ขึ้นมา ที่เป็นแค่แผนที่ และ Marker เพราะเราคิดว่า น่าจะมีจุดสีแดง ๆ ที่บอกว่ามีการติดเชื้ออยู่ตรงไหนบ้าง ผู้ที่เข้ามาดูจะได้รู้ว่ามันใกล้ หรือไกลตัวเค้ามากแค่ไหน"

"เวอร์ชั่นแรก เราเริ่มโค้ดกันตอน 5 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่สามารถใช้งานได้แล้ว ตัว Tech stack ที่เราเอามาใช้ก็คือ Google Maps และเราใช้ Cloud Run ในการ Hosting ที่ทางบริษัทของเราใช้ Cloud Run ที่เป็น Serverless Containers มาซักพักแล้วเพราะว่า ผมขี้เกียจในการจัดการ VM (Virtual Machine) บริษัทผมค่อนข้างเล็ก ถ้าต้องมานั่งจัดการ VM สำหรับลูกค้าทุกตัวเนี่ย ผมคงไม่มีเวลาได้ทำอย่างอื่นเลย (หัวเราะ) คงต้องมานั่ง Monitor ซึ่งการใช้ Cloud Run ทำให้ผมตัดปัญหาเรื่องการ Devops ไปได้เยอะ ในส่วนของข้อมูลที่ฟีดเข้ามาในตัว Frontend ตอนแรกเราก็คิดกันว่าจะใช้อะไรดี ใช้ Firebase ดีมั้ย แล้วก็มาจบที่ Google Sheets เพราะเราต้องการให้ทีมหลังบ้านที่เข้ามาอัพเดตข้อมูลสามารถใช้งานได้ง่ายที่สุด"

"เราคุยกันว่า เดี๋ยวเราจะ Launch ตัว Covidtracker กันนะ ประมาณ 10 โมงครึ่ง ซึ่งตอนนั้นผมก็เขียนโพสต์ใน Facebook ส่วนตัวสั้น ๆ ง่ายๆ เลย ภายในเที่ยงครึ่ง มีทั้งนักการเมือง ทหาร ตำรวจโทรมาเลย (หัวเราะ) ตอนนั้น Traffic มันก็เริ่มตั้งแต่หนึ่งร้อย สองร้อย กลายเป็นว่าผู้คนให้ความสนใจกว่าที่เราคิดไว้ ตอนที่ถึง 1,000 Active user ผมและทีมก็ตื่นเต้นกันมาก แค่เที่ยงวันนั้นคนก็แชร์กันราวๆหนึ่งพันคนแล้ว ภายใน 6 ช.ม. แรกเว็บไซต์ Covidtracker ของเราก็มี Traffic ประมาณ 1,500,000 แล้วครับ"

จากนั้นคุณใหม่ก็ได้เล่าให้เราฟังถึงก้าวต่อไปของ Covidtracker "เรารู้ตัวกันตั้งแต่อาทิตย์แรกแล้วครับว่า แผนที่ที่ระบุตำแหน่ง รายงานตำแหน่งผู้ติดเชื้อ สุดท้ายในระยะยาวมันจะไม่ได้เป็นประโยชน์มากขนาดนั้น สิ่งที่มันเป็นประโยชน์มากกว่า คือการเตรียมตัว เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าเรื่องโรงพยาบาล ทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะต้องมีการจัดการทรัพยากร ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สุดท้ายแล้วมันจะมีจำกัดมาก เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยในเรื่องการกระจายข่าวสาร ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีการตื่นตัว และการให้ความช่วยเหลือจากบริษัทต่าง ๆ เช่น ล่าสุดมีคนทำเกี่ยวกับแชร์ Location สำหรับจุดจำหน่ายหน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์ต่าง ๆ มีคนทีทำในส่วนของการเช็คว่า วันนี้เราไปไหนมาบ้าง หรือถ้าเราไปในที่เสี่ยงจะมีการแจ้งเตือน ซึ่งหลาย ๆ ที่ก็ได้มีการกล่าวถึงว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก 5Lab ทำให้เราภูมิใจมาก ๆ ที่ได้ช่วยขับเคลื่อน และสร้างความตื่นตัว จากทั้งทางภาครัฐและเอกชน เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากครับ"

"ขอขอบคุณทุกคนที่เห็นว่าเราทำอะไรอยู่ แล้วก็พยายามที่จะช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่จาก Google, Google Thailand และทีม Google Cloud ขอขอบคุณทีม Cloud Ace ที่ช่วยเหลือติดตามมาตั้งแต่แรก ลำดับต่อไปเราจะมีโครงการเช่น ทำสติ๊กเกอร์ Line ร่วมกับศิลปินไทยมากมาย เพื่อที่จะนำรายได้มาช่วยเหลือโรงพยาบาล มีวิดีโอคลิปที่จะแนะนำการกักตัวอยู่ที่บ้าน ทั้งหมดเป็นความร่วมแรงร่วมใจจากอาสาสมัครจริง ๆ ไม่ได้มีผลประโยชน์ใด ๆ มาเกี่ยวข้อง ขอให้รอติดตามกันด้วยนะครับ"

#COVID19 #Covidtracker #5Lab #Covid #Tracker #CloudAce #Google #GoogleCloud #GoogleMaps

ติดตาม 5Lab ได้ที่

https://www.5lab.co/

https://www.facebook.com/5LabGroup

https://covidtracker.5lab.co/

Writer: Thanabat Raksanawes

Special Thanks to Pajaree Butrdee and Paripol Toopiroh

บทความอื่น ๆ โดย Cloud Ace Thailand

ในปัจจุบัน มีวิธีมากมายในการค้นหาข้อมูล และเรียนรู้ด้วยตัวเอง Cloud Ace ขอแนะนำ 6 วิธีสำหรับเรียนรู้ และเพิ่มทักษะเกี่ยวกับ Google Cloud

ใช้ Google Cloud เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันแสดงข่าวเบสบอลระดับมืออาชีพบนหน้าจอขณะล็อค